วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

นั่งใช้คอมพ์นานเสี่ยงโรคหมอนรองกระดูกแนะบริหารเอว-คอ

หมอเตือนพนักงานออฟฟิศเสี่ยงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท แนะหยุดใช้คอมพ์เป็นเวลานาน บริหารคอ-เอว หากมีอาการปวดร้าวจากคอถึงมือรีบพบแพทย์ ชี้วิธีรักษาขั้นต้นให้ยา ทำกายภาพบำบัด อาการหนักต้องผ่าตัด  เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์  น.พ.ธีรศักดิ์  พื้นงาม หัวหน้าศูนย์สมองและระบบประสาท เครือโรงพยาบาลพญาไท กล่าวถึงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทว่า  พนักงานออฟฟิศและคนที่ต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกวัน วันละนานๆ เสี่ยงต่อการเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท เนื่องจากระหว่างใช้คอมพิวเตอร์จะต้องมีการเกร็งและใช้งานบริเวณส่วนหลัง อาจจะมีการใช้อย่างไม่ถูกต้องและเคลื่อนไหวไม่เหมาะสม เมื่อทับถมเป็นเวลานานจะส่งผลให้เกิดกระดูกเสื่อม ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูก
 นอกจากนี้ บุคคลที่ใช้คอและหลังไม่ถูก เช่น  นักกีฬายกน้ำหนัก คนที่ก้มหลังยกสิ่งของไม่ถูกท่า ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้เช่นกัน  ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคนี้มากน้อยเพียงไรไม่มีการเก็บรวบรวมเป็นสถิติ แต่คาดว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะอยู่กับการใช้งานคอมพิวเตอร์มากขึ้นกว่าในอดีต  และการตรวจในปัจจุบันทำได้ง่ายผู้ป่วยไม่เจ็บตัว จึงไปตรวจกันมากขึ้น 
 น.พ.ธีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า  โรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โรคหมอนรองกระดูกส่วนเอวกดทับเส้นประสาท อาการของผู้ป่วยหมอนรองกระดูกส่วนเอวกดทับเส้นประสาท จะปวดร้าวจากเอวลงไปที่ขา มีอาการขาชาและอ่อนแรงขาข้างใดข้างหนึ่ง และหมอนรองกระดูกส่วนคอกดทับเส้นประสาท จะปวดต้นคอร้าวไปที่สะบักข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจปวดถึงแขนหรือมือ มืออ่อนแรงจับสิ่งของไม่ถนัด มือและแขนมีอาการชา หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจด้วยการเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็มอาร์ไอ) และรีบรักษาก่อนอาการลุกลามรุนแรง
 ทั้งนี้  การรักษาขั้นต้นจะใช้การให้ยารับประทานลดอาการบวมและอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณหมอนรองกระดูกกดทับ รวมทั้งการประคบนวด การจัดกระดูก การยืดตัว และทำกายภาพบำบัด จะช่วยลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อ หากอาการยังไม่ดีขึ้นจะต้องผ่าตัด เดิมจะใช้การผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกที่เกิดการกดทับเส้นประสาทออกไป แล้วนำกระดูกส่วนอื่น เช่น กระดูกสะโพกของผู้ป่วยมาใส่ที่ช่องว่างระหว่างกระดูกที่เอาหมอนรองกระดูกออกไป หากเป็นบริเวณคอจะทำให้การเคลื่อนไหวของคอไปในทิศทางต่างๆได้น้อยลง
 น.พ.ธีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า  ปัจจุบันมีการผ่าตัดใส่หมอนรองกระดูกเทียมเข้าไปในช่องว่างระหว่างกระดูกที่เกิดจากการผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกออกไป หมอนรองกระดูกเทียมนี้ยังคงรักษาความสามารถในการเคลื่อนไหวให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ ใช้เวลาผ่าตัด 1 ชั่วโมง  จากเดิมประมาณ 3 ชั่วโมง เพราะต้องผ่าตัด 2 ครั้งทั้งส่วนที่เกิดการกดทับเส้นประสาท และบริเวณที่จะนำกระดูกมาใช้ แผลผ่าตัดเล็ก และผู้ป่วยมีระยะพักฟื้นน้อยลง แต่ราคาจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากหมอนรองกระดูกเทียมจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาตัวละ 1.5-2 แสนบาท
  “การป้องกันโรคควรเลี่ยงการใช้หลังไม่ถูกต้อง ไม่ควรยกของหนักบ่อยๆ หากจำเป็นต้องยกของหนักต้องคุกเข่าลงข้างหนึ่ง คนที่ต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์  ควรหยุดใช้งานเป็นระยะเพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย 15-20 นาที และออกกำลังกายอย่างง่ายๆ โดยหมุนบริเวณคอและหลัง  จะช่วยให้เกิดการสร้างกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ชะลอการเสื่อมของกระดูกที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้” น.พ.ธีรศักดิ์ กล่าว
tag:เสี่ยง,โรค,โรคหมอนรองกระดูก,คอมพ์,คอมพิวเตอร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น